ข่าววัวชน สะเทือนใจ ควายแม่พันธุ์ตายด้วยโรคลัมปี สกิน เจ้าของฟุบหน้าร้องไห้
ข่าววัวชน เมียผู้ใหญ่บ้านที่สุรินทร์ นั่งฟุบร้องไห้ข้างซากควายแม่พันธุ์ตัวใหญ่ เลี้ยงดูประคบประหงมอย่างดี ไปเกี่ยวหญ้าเอามาให้ พบควายตายแล้ว เผย “โรคลัมปี สกิน” ทำทั้งจังหวัดมีวัวควายป่วยสะสมถึง 3.7 หมื่นตัว ตายแล้ว 1,400 ตัว วันที่ 7 ก.ค. ผู้สื่อข่าวได้รับคลิปจากเกษตรกร เป็นภาพเกษตรกรหญิงรายหนึ่งทราบชื่อ นางอยู่ มีศิริ ภรรยาของนายสนั่น มีศิริ ผู้ใหญ่บ้านบ้านกรวด หมู่ที่ 5 ตำบลหนองขวาว อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ กำลังนั่งฟุบร้องไห้ด้วยความเสียใจอยู่ข้างซากแม่ควายอายุ 7 ปี ที่ซื้อมาเพื่อไว้เป็นแม่พันธุ์ ในราคา 50,000 บาท ป่วยโรคลัมปี สกิน ได้ 7 วัน ก็มาล้มตาย เจ้าของซึ่งเลี้ยงดูประคบประหงมให้อยู่ในคอกอย่างดี และไปหาเกี่ยวหญ้า เมื่อมาถึงบ้านจะเอาหญ้าให้ควายกิน พบว่าควายตายไปเสียแล้ว ถึงกับเข่าทรุดและนั่งร้องไห้สะอึกสะอื้นเป็นที่อนาถใจกับญาติพี่น้องและผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง โดยเหตุเกิดเมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา นายจำลอง ผูกดวง ปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า จังหวัดสุรินทร์จนถึงปัจจุบันนี้มีสัตว์เลี้ยงชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคลัมปี สกิน สะสมแล้ว จำนวน 37,646 ตัว หายป่วยสะสม 2,364 ตัว มีสัตว์ตายสะสมทั้งสิ้น 1,399 ตัว โดยทั่วไปโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส มีแมลงเป็นพาหะนำโรค ดังนั้นการป้องกันและควบคุมเป็นไปด้วยความลำบาก เกษตรกรควรที่จะควบคุมที่ต้นทางด้วย คือ การฉีดยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นการกำจัดแมลงในพื้นที่เป็นหลัก ป้องกันพาหะนำเชื้อโรคเข้ามา ซึ่งจังหวัดสุรินทร์พบการแพร่กระจายแล้วทั้ง 17 อำเภอ
ขณะที่แนวทางในควบคุมการป้องกันโรค ทางปศุสัตว์มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ในการเข้าไปดูแลรักษาโรคให้พี่น้องเกษตรกรอย่างเต็มที่ โดยท้องถิ่นได้การสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร สำหรับสำนักงานปศุสัตว์สุรินทร์ ได้รับการจัดสรรวัคซีนมาจำนวน 6,980 โดส ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนในจุดเสี่ยงต่างๆ ที่ไม่พบโรคอย่างเร่งด่วนแล้ว โดยเฉพาะโคที่ลักษณะคุณภาพ รวมทั้งสัตว์ของทางราชการและของพี่น้องเกษตรกรที่ร้องขอมา ซึ่งวัคซีนจะฉีดได้เฉพาะสัตว์เลี้ยงที่ไม่เป็นโรคและไม่ติดเชื้อเท่านั้น มีนายสัตวแพทย์ควบคุมดูแล ประเมินความเสี่ยง เพราะว่าบางตัวมีเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ หากฉีดวัคซีนเข้าไปจะเกิดอาการเพิ่มเชื้อขึ้นทันที
“แนวทางการให้การช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ หากสัตว์เลี้ยงของท่านตายขึ้นมา ต้องรีบแจ้งกำนัน หรือผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์โดยด่วน เพื่อถ่ายภาพประกอบ ทำการบันทึกประวัติอายุสัตว์เลี้ยงที่ตาย ซึ่งหลักเกณฑ์การให้การช่วยเหลือตามอายุสัตว์ เช่น โคอายุ 6 เดือนขึ้นไป จะช่วยเหลือเป็นจำนวนเงิน 6,000-20,000 บาท กระบือเกณฑ์ช่วยเหลือตั้งแต่ 8,000-22,000 บาท โดยเกษตรกรสามารถทำตามขั้นตอน คือเริ่มจากท้องถิ่นก่อน หากท้องถิ่นไม่สามารถช่วยได้ให้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งมายังอำเภอ จากนั้นอำเภอจะนำเข้าสู่คณะกรรมการภัยพิบัติระดับอำเภอ หากไม่ได้ก็จะส่งเข้าระดับจังหวัด และหากมีจำนวนมากจังหวัดไม่สามารถช่วยได้ จะรวบรวมผ่านอนุกรรมการระดับจังหวัดส่งไปยังกระทรวง เพื่อพิจารณาช่วยเหลือต่อไป ดังนั้น ในการช่วยเหลือเบื้องต้นท้องถิ่นสามารถพิจารณาช่วยเหลือได้เลย”
รับข่าวสารวัวชนเพิ่มเติม
รวม ข่าววัวชน <<คลิ๊ก!!